Siriraj First Step Kick-Off: นวัตกรรมการจัดการความรู้องค์กรในยุค AI

บทความนี้ ผมขอนำเสนอวิธีเริ่มต้นก้าวแรกในการนำเอาเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันมาใช้งานในมิติด้าน KM ขององค์กร

ในยุคที่องค์กรขนาดใหญ่ต้องจัดการกับข้อมูลและเอกสารจำนวนมหาศาล เทคโนโลยี AI สามารถช่วยในการจัดการองค์ความรู้ภายในองค์กรได้

วันนี้ผมเลยมาขอแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาระบบ AI Chatbot สำหรับจัดการองค์ความรู้ภายในโรงพยาบาลศิริราช โดยใช้เทคโนโลยี Large Language Model (LLM) จาก Typhoon ครับ (https://opentyphoon.ai/)

ความท้าทายในการจัดการองค์ความรู้ของศิริราช

ความท้าทายในการจัดการองค์ความรู้ขององค์กรขนาดใหญ่อย่างโรงพยาบาลศิริราช คือ มีเอกสารสำคัญที่บุคลากรต้องใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงานจำนวนมาก ทั้งหนังสือเวียน (คำสั่ง ประกาศ) และเอกสารคุณภาพ (นโยบาย ระเบียบปฏิบัติระหว่างหน่วยงานและภายในหน่วยงาน) ซึ่งมีจำนวนหลักหลายหมื่นฉบับ (ทั้งที่ active และ inactive ไปแล้ว)

คุณพบปัญหาเดียวกันมั้ย?

1. การจะขออนุมัติเพื่อปฏิบัติงานหนึ่งหนึ่ง มักต้องอ้างอิงเอกสารหลายฉบับประกอบกัน
2. บุคลากรต้องทราบว่า ควรเลือกใช้ประกาศ ระเบียบ คำสั่ง หรือ Template เอกสารฉบับใดบ้าง ฉะนั้น บุคลากรท่านนี้จะต้องรู้จักเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ทั้งหมดในอดีต และปัจจุบัน (ซึ่งมีจำนวนมาก) เพื่อให้เลือกนำมาใช้งานได้ถูกต้อง และครบถ้วนกับเรื่องที่จะเสนอขออนุมัตินั้น ๆ
3. ต้องอ่านและทำความเข้าใจรายละเอียดของเอกสารแต่ละฉบับว่า สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการขออนุมัติหรือไม่ หากไม่…ก็ต้องหาประกาศ หรือคำสั่งฉบับอื่นที่สอดคล้องมาใช้ครับ ซึ่งหากไม่ทราบ หรือนำมาใช้ได้ไม่ครบถ้วน ย่อมส่งผลต่อกระบวนการทำงานหน้างาน ทำให้ขาดองค์ประกอบที่สำคัญในการปฏิบัติงาน หรืออาจกระทบต่อผู้รับบริการในโรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. ข้อมูลของศิริราชแทบทุกอย่าง มีความอ่อนไหวสูง ต้องรักษาความลับ และความปลอดภัย เราจึงตั้งมาตรฐานสูงกับการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลของศิริราช เพราะองค์กรที่ละเลยการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลมักเจอปัญหาใหญ่ตามมา เช่น ข้อมูลรั่วไหล ซึ่งมีบทลงโทษในทางแพ่ง และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และชื่อเสียงขององค์กรที่มากมายจนตีมูลค่าไม่ได้

AI และ Typhoon LLM: ตัวช่วยพลิกเกมจัดการความรู้

เราจึงเลือกใช้ Typhoon LLM เป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาระบบ ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ
1. รักษาความปลอดภัยของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดที่เอาเข้า Typhoon LLM จะอยู่ในประเทศไทย
2. มีความสามารถในการประมวลผลภาษาไทย ซึ่งเราใช้เทคโนโลยี RAG (Retrieval-Augmented Generation) ในการพัฒนาระบบ ซึ่งช่วยให้:
- ค้นหาข้อมูลจากเอกสารจำนวนมากได้พร้อมกัน
- เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเอกสารต่าง ๆ
- ตอบคำถามพร้อมอ้างอิงแหล่งที่มา
- คำตอบทุกอย่างอ้างอิงจากเอกสารทางการเท่านั้น

ก้าวสั้น ๆ ของพวกเรา กับความหวังในการเติมเต็มองค์กร

เราเริ่มกับระบบ FAQ ภายในของศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช (SiData+) เป็นอันดับแรก และได้ผลตอบรับที่น่าพอใจ บุคลากรสามารถค้นหาข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น และได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงตามเอกสารอ้างอิง โดยแผนการพัฒนาต่อไป คือ:
- ขยายฐานความรู้ให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน
- เพิ่มความสามารถในการตอบคำถามที่ซับซ้อน
- พัฒนาโมดูลเฉพาะทางสำหรับแต่ละหน่วยงาน
- เพิ่มฟีเจอร์ตามความต้องการของผู้ใช้

เคล็ดลับ 5 ข้อสำหรับองค์กรที่อยากใช้ AI จัดการองค์ความรู้

ในความเห็นของผม ขออนุญาตมีข้อแนะนำสักเล็กน้อยสำหรับองค์กรที่สนใจนำ AI มาใช้ในการจัดการองค์ความรู้นะครับ

1. เริ่มจากความต้องการและปัญหาที่แท้จริงขององค์กร
2. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้น
3. เลือกเทคโนโลยีที่เหมาะกับบริบทขององค์กร
4. เริ่มจากโครงการนำร่องขนาดเล็กก่อนขยายผล
5. รับฟังและปรับปรุงตามความต้องการของผู้ใช้งานจริง

โครงการนี้ทำให้ผมเห็นว่า การนำ AI มาใช้ในองค์กรไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเสมอไป เราสามารถใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาในประเทศไทย ที่เข้าใจบริบทของเรา และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพได้

นี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางของพวกเราที่ได้แสดงให้เห็นว่า AI สามารถเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสได้อย่างไรในศิริราช และผมหวังว่า นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรของคุณเริ่มต้นก้าวแรกในการนำเทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่างเช่น AI มาใช้พัฒนาองค์กรได้ครับ

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ ก้าวต่อไปของพวกเราจะเป็นยังไงต่อไป ผมจะหาโอกาสมา Update นะครับ (ช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะครับ ><)

Author: นายแพทย์เปี่ยมบุญ ธมโชติพงศ์, Clinical Ambassador at Siriraj Informatics and Data Innovation Center (SiData+)

Editor: นางสาวศศินิภา อุทัยสอาด, SiData+ Blog Admin,
นายทศพร แสงจ้า, Data Scientist at SiData+
นายศรชัย บุญวัชราภัย, SiData+ Blog Team
นางสาวนภิสา สวยสมบูรณ์, SiData+ Blog Team

0
Subscribe to my newsletter

Read articles from Peamboon Thomchotpong directly inside your inbox. Subscribe to the newsletter, and don't miss out.

Written by

Peamboon Thomchotpong
Peamboon Thomchotpong